สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดตัวหนังสือภาพ “จุดหมายปลายทาง หรือ Destinations” พร้อมเปิดเวทีแชร์ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา “นวัตกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังวิกฤต COVID-1” จากนายภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ นายกสมาคมการค้าเพื่อการส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงเทคนิค แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมจุดประกายให้นวัตกรและผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์หันมาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตและยั่งยืนไปด้วยกัน
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “หนังสือภาพเล่มนี้เป็นการนำเสนอมุมมองนวัตกรรมการท่องเที่ยวผ่านภาพถ่ายจากผลงานการประกวดกว่า 1,300 ผลงาน ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation” ซึ่งจัดร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยนเรศวร และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเป็นครั้งแรกที่มีการประกวดภาพถ่ายจากโดรน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย หากสนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ https://nia.bookcaze.com/viewer/2188/1/จุดหมายปลายทาง_Destinations”
“อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศไทยและมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทั้งยังก่อให้เกิดธุรกิจต่อเนื่อง การลงทุน และการจ้างงานในภาคส่วนต่างๆ เช่น ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ร้านอาหาร การคมนาคมขนส่ง และธุรกิจสตาร์ทอัพ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเกิดธุรกิจเทคโนโลยีการท่องเที่ยว (Traveltech) ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ แต่เมื่อต้นปี 2563 วิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักอย่างไม่มีทางเลือกทั้งกิจการโรงแรม การบิน ร้านอาหาร ร้านของที่ระลึก รวมทั้งอุตสาหกรรมไมซ์ อุตสาหกรรมชุมชน และอุตสาหกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วหากต้องการให้ฝ่าวิกฤตนี้ เรียกได้ว่า “วิกฤตและการเปลี่ยนแปลง” เป็นได้ทั้งภัยคุกคามและโอกาสขึ้นกับความสามารถในการก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น “นวัตกรรม” คือคำตอบของผู้เล่นที่ปรับตัวได้รวดเร็ว และคว้าโอกาสนั้นมาแก้ปัญหาของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ เพื่อเปิดทางให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวพลิกฟื้นขึ้นมาได้ NIA ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมนวัตกรรมประเทศวางเป้าหมายยกระดับและส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
นำคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วิถีชีวิต และองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม มาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว 2) ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มุ่งเน้นการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้วิถีเกษตรกรรม เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และกระจายรายได้
สู่ท้องถิ่น และ 3) ด้านการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ ประกอบด้วยกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ รักษาฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ การพักผ่อนหย่อนใจที่คลายความเครียดและสร้างความสุขให้กับนักเดินทาง”
นายภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association (TTSA) และผู้ก่อตั้งบริษัท Event Pop แพลตฟอร์มการจัดงานอีเว้นท์ครบวงจร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องชะลอตัว ผู้ประกอบการ และชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ปัจจุบันภาครัฐได้พยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว จึงทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งแล้ว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวภายในประเทศไทย และจากวิกฤตนี้ก็ทำให้เราค้นพบศักยภาพว่าเราสามารถทำหลายสิ่งได้อย่างกะทันหัน จะเห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทเยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการจองที่พักหรือร้านอาหารล่วงหน้า การหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว การวางแผนการเดินทาง หรือ การชำระเงิน ในช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับเทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยวหรือทราเวลเทคที่จะเข้ามามีบทบาท เพื่อสร้างความแตกต่างและช่วยทำให้อุตสาหกรรมมีกลับมาฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้นในยุคหลังโควิค ซึ่งการพัฒนาทราเวลเทค ควรให้ความสำคัญใน 4 ประเด็น ดังนี้ 1. การผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงเทคโนโลยี ไม่เพียงแต่ระบบการจองล่วงหน้าแต่รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวมีความพิเศษมากยิ่งขึ้น 2. การสร้างเนื้อหาการค้นพบสถานที่รูปแบบใหม่เพื่อดึงดูดให้ผู้คนอยากท่องเที่ยวไปสถานที่นั้น ๆ เช่น หนังสือภาพเล่มนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมอยากออกเดินทางไปสถานที่ในภาพ 3. การส่งเสริมให้เกิดสังคมไร้เงินสด เพื่อความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และ 4. การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวร่วมดูแลรักษาความสวยงามของโลกนี้ไปด้วยกัน”
……………………………….