ม.ราชภัฏราชนครินทร์ ผนึกกำลัง อว. และภาคเอกชน ลงนาม MOU มุ่งเสริมกำลังสมรรถนะ บุคลากร นิสิตนักศึกษา เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
กรุงเทพ – 28 กันยายน 2565 มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย NTT DATA Business Solutions (Thailand) Ltd. และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือการดำเนินการ ว่าด้วยโครงการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน เพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศจากกำลังทรัพยากรบุคคล องค์ความรู้ เทคโนโลยี งานวิจัย สู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างแท้จริง
รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร ภู่ผะกา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มีความมุ่งมั่นพัฒนาคนหรือบุคลากรในทุกระดับ โดยการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการส่งเสริมงานวิจัย เพื่อนำไปช่วยพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อดึงเอาจุดเด่น นั่นคือองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับบุคลากร นิสิต นักศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษา ให้มีความพร้อมทั้งในด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะที่ตอบโจทย์ภาคการผลิต ในขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ในฐานะมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ จะต้องเร่งสร้างบุคลากรที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นไปพร้อมกัน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น และช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
ด้าน ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “ด้วยนโยบายของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model : BCG Model) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สถาบันในระดับอุดมศึกษาจะต้องถ่ายทอดความรู้และความเข้าใจให้กับบุคลากร เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม นำไปสู่การสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีฐานมูลค่า และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง”
คุณฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ดาวได้มีโอกาสได้ใช้ความเชี่ยวชาญเเละประสบการณ์ที่เราทำงานเศรษฐกิจหมุนเวียนมาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เเละพันธมิตรในโครงการ เพื่อสร้างหลักสูตรประกาศนียบัตรการจัดการขยะ
เเละการสร้างธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นมาเป็นครั้งเเรกในประเทศไทย ที่ตรงกับเป้าหมาการทำงานด้านความยั่งยืนในการต้านโลกร้อน หยุดขยะพลาสติก และส่งเสริมวงจรรีไซเคิล ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของบริษัท เป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ทักษะ เเละความสามารถ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสนับสนุน BCG ซึ่งเป็นวาระเเห่งชาติด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลักสูตรนี้จะช่วยจุดประกายให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านการจัดการขยะตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยเเละอยากเชิญชวน นิสิต นักศึกษา คนทำงาน เจ้าของกิจการ เเละผู้ที่สนใจเข้าอบรมหลักสูตรนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อมมากขึ้นซึ่งจะเป็นการผลักดันเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป
คุณวิศิษฐ์ วิระยากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท NTT DATA Business Solutions (Thailand) Ltd. กล่าวว่า “บริษัท NTT ยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ในหลายๆโครงการ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเราได้ร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้ประกอบการบนฐานนวัตกรรมเเละวิถีชีวิตใหม่ในยุคดิจิทัล โดยหลักสูตรดังกล่าว ประกอบด้วย
- การบริหารจัดการบนฐานวิถีใหม่สำหรับผู้ประกอบการ (Digital Disruption for Entrepreneur)
- การบริหารจัดการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing Management)
- ความฉลาดทางดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการ (Digital Intelligence Quotient for Entrepreneur) ซึ่งในหลักสูตรดังกล่าว เราเน้นในทางภาคทฤษฎีโดยทางคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ โดยมีโจทย์ คือให้เอาเครื่องมือที่บริษัทมีเพื่อให้ผู้เข้าฝึกได้ใช้เครื่องมือโดยตรง เเละได้นำหลักสูตรดังกล่าว ไปทำการเรียนการสอนให้กับคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ทั้ง 38 แห่ง คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเเละเป็นการตอบสนองนโยบายของทุกท่าน เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เป็น Reinventing University ในลำดับต่อไป”
ทางด้าน นางจุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า “สวทช. มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก โดยการนำความสามารถอันเหนือชั้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยให้ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สวทช. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ พัฒนาหลักสูตรเพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตให้กับผู้ประกอบการเกษตรในพื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา และบริเวณใกล้เคียง ประกอบด้วยหลักสูตรระยะสั้น 3-5 วันต่อหลักสูตร เพื่อเสริมทักษะและสร้างแนวทาง ความต่อยอด การเพิ่มมูลค่าทั้งผลผลิต และ การนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเสริมสำหรับการออกแบบ วางแผน การปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรที่ออกโดย สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์”
ทั้งนี้ รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา กล่าวเพิ่มเติมถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยโครงการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีวัตถุประสงค์คือ
เพื่อพัฒนาทักษะอนาคตที่สำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
เพื่อร่วมกันวางแผนและพัฒนางานด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ
เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สำหรับแนวทางการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เป็นกระบวนการสำคัญในการปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยให้มีความทันสมัย มีการทำงานที่ตรงกับเป้าหมายในการพัฒนาบุคคลให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีทักษะ องค์ความรู้ที่ทันสมัย ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา โดยแต่ละสถาบันจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้ทราบถึงแนวทางที่จะต้องทุ่มเททรัพยากร ความสนใจ รวมถึงประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในด้านนั้น ๆ ซึ่งแต่ละด้านก็จะตรงต่อความต้องการของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ได้ดำเนินการอยู่ ในฐานะมหาวิทยาลัยที่ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้โครงการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา โดยทางมหาวิทยาลัยฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำหลักสูตรต่าง ๆ ทั้งหลักสูตรระยะสั้น ระยะยาว เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากร ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ และกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพในทุก ๆ ด้านอย่างเต็มรูปแบบ ที่สามารถตอบโจทย์ภาคการผลิตโดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมระดับฐานรากที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีศักยภาพครบครันทั้งองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ จึงนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้” รศ.ดร.ดวงพร กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณที่กรุณาเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์
อ.อาทิตยา ทรัพย์สินวิวัฒน์ โทร.095-636-9549